วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กว่าจะมาเป็น..Happy Alone

การทำนิตยสารถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับดิฉันมาก จริงอยู่ที่เมื่อตอนดิฉันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 ดิฉันได้มีโอกาสทำหนังสือ 1 เล่ม โดยตอนนั้นก็ได้จับคู่ทำกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทกันอยู่แล้ว และมีโอกาสได้ร่วมงานกันหลายครั้ง นั่นคือ นายวชิรวิทย์ เอี่ยมวิลัย หรือ พอร์ช ในการทำงานจึงไม่ค่อยยุ่งยากวุ่นวาย เพราะทำกันแค่ 2 คน ซึ่งเราสองคนก็เข้าใจ และรู้ลักษณะการทำงานและความถนัดของกันและกันอยู่แล้ว ทั้งนี้การทำหนังสือในตอนนั้น เป็นเพียงการทำหนังสือที่ให้ความรู้ทั่วไป ขั้นตอนการทำจึงไม่ยุ่งยากนัก เพียงแต่ต้องหาข้อมูลดีๆ และมีความน่าเชื่อถือมากลั่นกรองให้เป็นบทความที่มีประโยชน์ และน่าสนใจ การทำหนังสือในครั้งนั้นจึงผ่านไปด้วยดี
การทำหนังสือที่ให้ความรู้ทั่วไปมีความแตกต่างจากการทำนิตยสารมาก เพราะการทำนิตยสารจะต้องมีการทำงานร่วมกันหลายคนหลายฝ่าย ซึ่งจะมีขั้นตอนและวิธีการทำที่ยุ่งยากมากกว่า ทำให้ดิฉันได้ฝึกประสบการณ์ในการทำงานกับคนอย่างหลากหลาย ดิฉันได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว และทำความเข้าใจกับความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น
การขั้นตอนการทำนิตยสาร ทางกลุ่มได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละคนแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบ สามารถปิดเล่มได้อย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานได้อย่างเหมาะสม ถึงทุกคนจะเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็มีความตั้งใจ และทุ่มเทกับงานมาก
การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในการจัดทำนิตยสาร ทำให้ดิฉันได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง น่าสนใจ และมีความน่าเชื่อถือ การจัดหน้าหนังสือหรือการทำกราฟิก เพื่อให้นิตยสารมีความสวยงาม และมีรูปแบบที่น่าสนใจ น่าติดตาม และที่สำคัญคือได้เรียนรู้การประสานงานของทุกฝ่ายของทีมงาน เพื่อช่วยให้เกิดความรวดเร็ว และความถูกต้องของการทำงาน

เมื่อพูดถึงความรู้สึก ดิฉันคงพูดได้เต็มปากว่า “ภูมิใจมาก” ที่ได้ทำนิตยสารเล่มนี้ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ที่น่ารัก ทำให้เรามีความสามัคคีและเข้าใจกันมากขึ้น สำหรับคนทั่วไป อาจมองว่านิตยสารเล่มนี้เป็นเพียงหนังสือธรรมดาเล่มหนึ่ง แต่สำหรับดิฉัน นิตยสารเล่มนี้เป็นชีวิต เป็นความมุ่งมั่น เป็นการทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงใจของทีมงานทุกคน เพื่อให้ได้นิตยสารที่มีคุณค่า มีความสมบูรณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อ่านทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"แท็บเล็ต" กระดานอิเล็กทรอนิกส์

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology) หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร นับตั้งแต่การสร้าง การวิเคราะห์หรือประมวลผล การรับและส่งข้อมูล รวมไปถึงการจัดเก็บและการนำข้อมูลไปใช้งานใหม่
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้คนในสังคมดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยให้การติดต่อสื่อสารต่างๆ นั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น ฉะนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งตัวอย่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ดิฉันจะนำเสนอในวันนี้คือ "แท็บเล็ต"
แท็บเล็ต (Tablet) เป็นคอมพิวเตอร์ที่รวมการทำงานทุกอย่างไว้ในจอสัมผัสโดยใช้ปากกาไตลัส ปากกาดิจิตอล หรือปลายนิ้ว เป็นอุปกรณ์อินพุต(Input)พื้นฐาน แทนการใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ มีอุปกรณ์ไร้สายสำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายภายใน จะพูดว่าแท็บเล็ตเป็นกระดานอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพสูงก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำแท็บเล็ตเข้ามาใช้งานในด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร และด้านการศึกษา  แต่จะมีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างนั้น เราก็มาดูกันเลยค่ะ
 (ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000156365)

ด้านการติดต่อสื่อสาร
การดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ต้องมีการติดต่อสื่อสารกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิต  ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารนั้น ก็สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ โดยมีแอพพลิเคชันต่างๆ ที่ผู้คนนิยมใช้งานบนโซเชียลเน็ตเวิร์คมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เฟชบุ๊ค (Facebook ) ซึ่งคนในสังคมก็จะใช้เฟชบุ๊คในการติดต่อสื่อสารต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อสื่อสารในแวดวงเพื่อน การติดต่อสื่อสารเพื่อการศึกษา และการติดต่อสื่อสารเพื่อการทำงาน เป็นต้น ถ้าบุคคลใดที่มีแท็บเล็ต ก็จะใช้แท็บเล็ตในการสื่อสารผ่านเฟชบุ๊ค เนื่องจากแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่พกพาสะดวก และใช้งานได้ง่าย ปัจจุบันผู้คนจึงนิยมใช้งานแท็บเล็ตกันอย่างล้นหลาม  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดของการติดต่อสื่อสารผ่านแท็บเล็ตอยู่บ้าง นั่นก็คือ การเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพราะถ้าแท็บเล็ตไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานจะไม่สามารถทำการติดต่อสื่อสารใดๆ ได้เลย

(ที่มา : http://www.biggtech.com/apple/ipad/ipad-2-ipad/top-4-best-ipad-2-apps_5972.html)

ด้านการศึกษา
การนำแท็บเล็ตมาใช้ในการศึกษา  เป็นความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งแท็บเล็ตก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น แท็บเล็ต เป็นได้ทั้งสื่อและเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน ถ้านำมาใช้ในรูปแบบสื่อก็อยู่ในรูปแบบของ mCAI ซึ่งเนื้อหาวิชาต่างๆที่ผู้สอนต้องการถ่ายทอดจะถูกบรรจุไว้รูปแบบ Mobile Application แล้วนำไปติดตั้งบนแท็บเล็ต ซึ่งผู้เรียนสามารถศึกษาเนื้อหาได้เลย โดยไม่ต้องรอการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้สะดวกต่อการใช้งาน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจและความพร้อมของตนเอง ซึ่งตอบสนองความเป็นเอกัตภาพศึกษา (Individual earning) ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ยังสะดวกต่อการใช้งานทั้งผู้สอนและผู้เรียนทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบทที่ห่างไกล อันเป็นการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างดี ถ้านำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน จะอยู่ในรูปแบบ mWBI คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บนแท็บเล็ตผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เนื้อหาวิชาจะถูกโหลดจากอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ HTML5 ซึ่งผู้เรียนจะทำกิจกรรมสื่อการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์บนเครือข่าย ซึ่งข้อจำกัดของการใช้แท็บเล็ตในรูปแบบ mWBI นี้ ก็จะเหมือนกับข้อจำกัดที่มีต่อการติดต่อสื่อสาร คือ ถ้าไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็จะไม่สามารถใช้งานได้
(ที่มา : http://itnewspaper.info/news/scopad-software-primary-education/)


แท็บเล็ตเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็กๆ แตกต่างจากการเรียนจากหนังสือซึ่งไม่น่าสนใจและเข้าใจยากกว่า ทำให้ผู้สอนสามารถเข้าถึงรูปภาพ วีดิโอคลิป และข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก เพื่อใช้สร้างบทเรียนที่น่าสนใจให้แก่ผู้เรียน แต่การนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้เรียนได้ เช่น อาจมีผู้เรียนจำนวนมากติดอินเทอร์เน็ต เด็กจะอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อนสองสามคน ขาดการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมกับผู้อื่น และทำให้เด็กคุ้นเคยกับการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ จนอาจทำให้ติดและทำให้ส่งผลต่อผลการเรียน ดังนั้นผู้สอนและผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนและบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด ผู้สอนก็ควรจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคุมการใช้งานแท็บเล็ตของผู้เรียนให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้ปกครองก็ควรดูแลและพาเด็กทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กผ่อนคลาย ไม่หมกมุ่นกับการเล่นแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียว
(ที่มา : http://www.manager.co.th/cyberbiz/viewnews.aspx?NewsID=9560000001486)


เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าหากเรานำมาใช้ในทางที่ถูกที่ควร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเราเอามาใช้ในทางที่ไม่ดีและไม่เหมาะสม ก็จะเกิดผลเสียและผลกระทบตามมาอีกมากมาย ฉะนั้นเราจึงควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกันอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา และการพัฒนาประเทศชาติของเราสืบไป

ขอบคุณข้อมูลจาก 
http://th.wikipedia.org/wiki/แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์
http://www.l3nr.org/posts/179976

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัดพระลอย.. แหล่งเรียนรู้ทางพุทธศาสนา

เมื่อพูดถึงคำว่า “แหล่งการเรียนรู้” ทุกท่านคงจะทราบกันอยู่แล้วว่า ทุกๆสิ่งรอบตัวเราล้วนก็เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้เราได้ทั้งสิ้น ซึ่งแหล่งการเรียนรู้ที่น้องจะมานำเสนอวันนี้ เป็นแหล่งการเรียนรู้ประเภทวัตถุและอาคารสถานที่ ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งความรู้ด้วยตัวของมันเอง และสามารถสื่อความหมายโดยลำพังตัวเอง เมื่อพูดถึงตอนนี้ ทุกท่านคงคิดว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ประเภท พิพิธภัณฑ์ หรือไม่ก็จิตรกรรมฝาผนังใช่ไหมล่ะค่ะ? แต่ที่เราจะพูดถึงกันวันนี้ไม่ใช่อย่างที่ทุกท่านคิดหรอกค่ะ เพราะแหล่งการเรียนรู้ที่น้องจะมานำเสนอวันนี้ก็คือ วัด ค่ะ
วัด เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา ส่วนใหญ่ประชาชนจะเข้ามาทำบุญไหว้พระกันใช่ไหมคะ? แล้วรู้หรือไม่คะว่า วัด ก็เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญของเราได้เช่นกัน ถ้าพูดถึงการได้สัมผัสประสบการณ์จริงในการเรียนรู้ที่วัด น้องคงจะยกตัวอย่างเป็น วัดพระลอย จังหวัดสุพรรณบุรี ค่ะ เนื่องจากน้องได้มีโอกาสเข้าไปทำบุญที่วัดนี้ทุกๆ เดือนเลย และยังได้รับความรู้จากแหล่งการเรียนรู้นี้มาอย่างมากมาย


วัดพระลอย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลรั้วใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอู่ทองที่ชาวสุพรรณให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ชื่อวัดก็ตั้งตามตำนานที่ว่า มีพระพุทธรูปลอยมาตามแม่น้ำท่าจีน ชาวบ้านพบเห็นจึงได้อาราธนาขึ้นจากแม่น้ำ และอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ภายในวัดเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เนื้อหินทรายขาว สมัยลพบุรี ที่คาดว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 800 ปี ชาวบ้านจึงถวายนามให้องค์พระว่า หลวงพ่อพระลอย




นอกจากหลวงพ่อพระลอยแล้ว สิ่งที่ดึงดูดชาวบ้านให้แวะเวียนมาที่วัดนี้ยังมีอีกไม่น้อย เช่น เจดีย์วัดพระลอย ถ้ำฤษีใต้ฐานเจดีย์ หรือว่าจะเป็นอุทยานมัจฉา ให้ผู้มาเยือนได้ทำทานด้วยอาหารปลา รวมไปถึงรูปปั้นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ประชาชนสามารถเข้ามาทำการเรียนรู้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ก็ยังมีเทพจีน และรูปปั้นน่ารักๆ มากมายที่กระจายอยู่โดยรอบบริเวณวัด ทำให้วัดพระลอย ถือเป็นวัดที่มีสีสันมากที่สุดวัดหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี


ในการบูรณาการแหล่งเรียนรู้ หรือ “วัดพระลอย” ไปใช้กับการเรียนการสอนนั้น น้องคิดว่าน่าจะสามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนใน หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 พุทธประวัติและชาดก เรื่อง ชาดก สำหรับผู้เรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โดยผู้สอนอาจพาผู้เรียนมาทัศนศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานที่จริง หรืออาจเป็นสิ่งที่จำลองขึ้น เพราะในวัดพระลอย จะมีรูปปั้นเรื่องพระเวสสันดร กระจายอยู่ทั่ววัด ทั้ง 13 กัณฑ์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับเรื่อง เวสสันดรชาดก ให้กับผู้เรียน เพราะการเรียนรู้แค่ภายในห้องเรียนคงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนได้ เนื่องจากเรื่องพุทธประวัติหรือชาดกต่างๆ เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยาก ถ้าหากได้มาเห็นสถานที่จริง หรืออาจเป็นสิ่งจำลองขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจในเรื่องที่ผู้สอนต้องการจะสอนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมีการถาม-ตอบ ของผู้เรียนและผู้สอน ในระหว่างที่ทำการเดินชมรูปปั้นนั้นก็ได้ เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสังเกต รู้จักวิเคราะห์คุณค่าของชาดก รวมไปถึงสามารถนำข้อคิดในชาดกมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้



ที่ตั้ง : ม.2 ถ.สมภารคง ตำบลรั้วใหญ่ เมือง สุพรรณบุรี 72000
ติดต่อ:โทร. 035-522324, 089-6162108

แผนที่การเดินทาง

ขอบคุณภาพแผนที่จาก : http://www.suphan.biz/TampleNine.htm

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

การวิเคราะห์สื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับรางวัล

โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง  “ความสุขของกะทิ” จาก บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นโปสเตอร์ที่ได้รับรางวัล Gold Award หรือรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จากการประกวดโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ในงาน “สวนดุสิต : ไทยมูฟวี่ โปสเตอร์ อวอร์ดส์ 2009”  โดยเป็นผลงานการออกแบบของ คุณฤกษ์ชัย ลิ้มทองคำ


ด้านการสื่อความหมาย
โปสเตอร์ “ความสุขของกะทิ” นับว่าเป็นภาพที่สื่อความหมายได้ดีมาก ใช้ตัวละครหลักในการสื่อความหมาย นั่นก็คือ “กะทิ” ซึ่งเป็นเด็กหญิงที่เป็นตัวละครหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ การใช้รูปของกะทิที่กำลังยิ้มอย่างมีความสุขนั้น สอดคล้องกับชื่อเรื่องภาพยนตร์ได้ดีมาก สามารถสื่อได้เลยว่าภาพยนตร์นี้มีชื่อเรื่องว่า “ความสุขของกะทิ” ซึ่งเป็นการออกแบบที่เรียบง่าย ผู้ที่ดูโปสเตอร์ก็จะสามารถเข้าใจความหมายที่เจ้าของผลงานต้องการจะสื่อออกมาได้ง่ายอีกด้วย

การออกแบบดีไซน์
ในด้านของการออกแบบ การใช้สีของภาพนี้ก็มีความเหมาะสม มองดูแล้วสบายตา เพราะสีที่ใช้จะอยู่ในโทนเดียวกัน จึงไม่ดูขัดตามากนัก ภาพพื้นหลังที่ใช้ก็ช่วยบ่งบอกถึงอารมณ์ของภาพได้ดี เมื่อดูแล้วเราก็จะรู้ได้ทันทีว่าภาพนี้ต้องการสื่อว่ามีความสุขมากเพียงใด สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นหลังดี การออกแบบตัวอักษรดูสวยงาม แต่ถ้าออกแบบตัวอักษรแบบนี้ บางคนก็อาจจะไม่เข้าใจ หรืออ่านไม่ออกก็เป็นได้

โปสเตอร์ “ความสุขของกะทิ” เป็นโปสเตอร์ที่เรียบง่าย แต่มีความสวยงามสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง เพราะสามารถสื่อความหมายและดึงดูดผู้ชมให้เข้าใจถึงความสุขของกะทิ ที่ผู้ชมจะได้รับรู้เมื่อเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ นับว่าเป็นผลงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งชนะเลิศจากการประกวดโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม ในงาน “สวนดุสิต : ไทยมูฟวี่ โปสเตอร์ อวอร์ดส์ 2009” มากค่ะ

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

2 โจร แฮกข้อมูลเวิร์คพอยท์

            สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ห่างหายกันไปนานเลยนะคะ สำหรับการให้ข่าวสาร ความรู้ผ่านบล็อก วันนี้ผู้เขียนก็อยากจะให้ความรู้เกี่ยวกับการก่ออาชยากรรมทางคอมพิวเตอร์ให้ท่านผู้ฟังได้ทำความเข้าใจกันนะคะ เมื่อพูดถึงอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมปัจจุบันนี้ มีการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งสาเหตุในการก่ออาชญากรรมนั้น อาจเป็นเพราะความเสื่อมโทรมทางจิตใจของมนุษย์ หรือเพราะเศรษฐกิจของสังคมโลกที่เริ่มย่ำแย่ลงก็เป็นได้

     การก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้มีหลายรูปแบบ ซึ่งการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ผุ้เขียนจะพูดถึงในบล็อกนี้ก็คือ การแฮ็กระบบข้อมูลของรายการโทรทัศน์ของบริษัทเวิร์คพอยท์ ชื่อรายการว่า ราชรถมาเกย ซึ่งออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งในช่วงนั้นมีการรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่หลังจากบันทึกเทปรายการราชรถมาเกยเทปพิเศษไปได้ระยะเวลาหนึ่ง พบว่า ไม่มีผู้ชมรายการโทรเข้ามาบริจาค จึงได้ตรวจสอบและทราบว่าถูกแอบอ้างให้โอนเงินบริจาคไปยังบัญชีของคนร้ายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยแจ้งเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลให้หมายเลยที่โทรศัพท์เข้ามาบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โอนสายไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของคนร้าย ซึ่งคนร้ายศึกษาข้อมูลของคอลเซ็นเตอร์และดำเนินการแฮกข้อมูลมาหลายรายการแล้ว เช่น ข่าวข้นคนข่าว รายการอาจารย์หนูกันภัย ทางช่องเคเบิ้ล และรายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์อื่น ๆ อีกหลายรายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งผู้ต้องหาเป็นชาย 1 ราย และหญิง 1 รายคือ นายรุ่งโรจน์ หมัดดีน อายุ 31 ปี และ น.ส.มาริสา รัญจวนจิต อายุ 25 ปี พี่น้องต่างบิดา ร่วมกันก่อเหตุ




              การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หมวด 1 ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตราที่ 9, 10, 11 และ 12 ซึ่งระบุไว้ว่า


.......................................................................
มาตรา 9 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่ง       ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง                   แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 12 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
(1) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลัง และไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(2) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
.......................................................................

               ถ้าการกระทำความผิดตาม (2) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

               นอกจากนี้ยังผิดต่อจริยธรรมทางคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้คอมพิวเตอร์ละเมิดผู้อื่น การใช้คอมพิวเตอร์รบกวนการทำงานของผู้อื่น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร หรือแม้กระทั่งการใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้คอมพิวเตอร์โดยปราศจากการเคารพกฎระเบียบ และกติกามารยาทที่มีในสังคม

           จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น คงจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้ถึงโทษของการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กันแล้วนะคะ ยังไงก็ฝากให้ทุกท่านใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ถูกทาง จะได้ไม่เป็นภัยต่อตนเองและสังคมนะคะ สำหรับภาคเอกชนที่จัดศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ใช้ความระมัดระวัง โดยตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ ว่ายังสามารถใช้การได้ปกติหรือไม่ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา อย่าโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัว และกรุณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนจะโอนเงินบริจาคด้วยค่ะ ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีจากผู้เขียน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านโชคดีค่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก : http://hilight.kapook.com/view/65264